วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การแพทย์แผนไทย

การแพทย์แผนไทย

เป็นวิชาชีพหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทย ที่มีความสำคัญและอยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมีความเฉพาะในสังคมไทย เป็นการแพทย์ที่อาศัยความรู้และภูมิปัญญาของคนไทยที่ได้ทดลอง ปฏิบัติจริงแล้วได้ผล แล้วจึงสะสมถ่ายทอดสืบต่อกันมา การแพทย์แผนไทยมีประวัติและวิวัฒนาการควบคู่กันกับการมีประวัติศาสตร์ของชาติไทย มีหลักฐานปรากฏให้เห็นในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ก่อนอาณาจักรสุโขทัย สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์

การพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทย
เป็นงานที่มีหลักการเหตุผลที่ชัดเจนในการที่จะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ทางด้านสุขภาพ ระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับชาติ โดยรัฐมีความพยายามที่จะให้ประชาชนตระหนักถึงหลักในการพึ่งตนเอง และเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนด้วยวิธีทางการแพทย์แผนไทย

ทิศทางในการพัฒนาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
ได้มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมและใช้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่น ด้านการดูแลสุขภาพ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ( พ. ศ. 25825-2539 ) ซึ่งสมัยนั้นได้มีการระดมวิชาการต่างๆทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณมาคักเลือกองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของประชาชนโดยมีการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ


การที่จะพัฒนาการแพทย์แผนไทยสู่สากล
จะต้องทราบรายละเอียดการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศต่างๆที่เป็นคู่ค้าในโลกก่อนแล้วนำจุดเด่นของการแพทย์แผนไทยมาปรับแทรกช่องทางการตลาดต่อไป
หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพของทวีปเอเชียแล้ว ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้การแพทย์แผนไทยมีสถานภาพดีขึ้น มีการยอมรับมากขึ้น ทั้งจากความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์และวิธีการในการรักษาโรคแบบองค์รวมที่เป็นธรรมชาติบำบัดของการแพทย์แผนไทยถูกนำมาใช้นำวิธีการตลาดได้ โดยที่การแพทย์แผนอื่นๆในโลกนี้ไม่มีเหมือน การวางแผนและการพัฒนาการแพทย์แผนไทยสู่สากล ต้องมีความพร้อมทุกด้านตั้งแต่ ข้อมูล ผลการวิจัยและการวางมาตรฐาน เพื่อจะได้ส่งเสริมให้การแพทย์แผนไทยเป็นที่นิยมอย่างประทับใจและกว้างขวาง จึงควรรวบรวมข้อมูลที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการใช้ วิธีการใช้และประโยชน์จากการใช้ ความปลอดภัยจากการใช้รักษาโรค ซึ่งทุกข้อมูลสามารถใช้เป็นประโยชน์สำหรับการหาช่องทางในการวางยุทธศาสตร์และการวิธีการตลาดระหว่างประเทศได้



ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์แผนไทยที่สมบูรณ์แบบ จะต้องมีบทบาทหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพ 4 ด้านคือ
1. เวชกรรมไทย : ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคตามทฤษฎีและหลักการของการแพทย์แผนไทย จากนั้นให้การรักษาตามกรรมวิธีของการแพทย์แผนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ มักให้การรักษาด้วยยาแผนไทย หรือยาสมุนไพร
2. เภสัชกรรมไทย : การทำหน้าที่เตรียมยา และ/หรือผลิตยาแผนไทย ซึ่งมีกรรมวิธีในการเตรียมยาทั้งหมด 28 วิธี อาทิ เช่น การเตรียมยาผง ยานัตถุ์ ยาลูกกลอน ยาเม็ดแคปซูล เป็นต้น
3. ผดุงครรภ์ไทย : เป็นการทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของมารดาและเด็กในหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ก่อนคลอดและหลังคลอด ในสมัยก่อนจะต้องทำคลอดให้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ บทบาทหน้าที่ในการทำคลอดมีน้อยลง แต่เน้นในการดูแลสุขภาพของหญิงหลังคลอดมากขึ้น
4. นวดไทย : ทำหน้าที่ในการรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วยด้วยการนวด และอาจมีการใช้ยากินสมุนไพรควบคู่ไปด้วย

ในการประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 นั้น จะมีใบประกอบโรคศิลปะ 4 สาขา คือ สาขาเวชกรรมไทย (เป็นสาขาที่สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย ผดุงครรภ์ไทย และนวดไทย) สาขาเภสัชกรรมไทย สาขาผดุงครรภ์ไทย และสาขานวดไทย โดยผู้ที่จะสามารถประกอบโรคศิลปะในแต่ละสาขาได้นั้น จะต้องสอบผ่านและได้รับใบประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ บุคคลทั่วไปที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ไม่สามารถประกอบอาชีพเหล่านั้นได้ การได้มาซึ่งใบประกอบโรคศิลปะในแต่ละสาขานั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องได้ครบทั้ง 4 สาขาจึงจะประกอบโรคศิลปะได้ ใครได้สาขาอะไรก็สามารถประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ ได้
CHALITK

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น